คำปราศรัยนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
เนื่องในโอกาสการสัมมนาวันป้องกันการฆ่าตัวตาย วันที่ 9 ก.ย 2556 ณ.โรงพยาบาลราชวิถี
สวัสดีครับท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน เป็นเวลา 7 ปีต่อเนื่องกันมาที่ชมรมป้องกันการฆ่าตัวตายร่วมกับสมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยและกรมสุขภาพจิตจัดการสัมมนาขึ้นมา เพื่อที่จะให้เกิดความตระหนักในวันป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลราชวิถี
ในวันนี้ผมก็อยากจะใช้เวลาย้ำอีกครั้งว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาใหญ่ทั้งของโลกและของประเทศไทย แต่ละปีเราสูญเสียชีวิตกว่าร่วมล้านชีวิต จากประชากร 7 พันกว่าล้านคน ไปกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ที่ต้องรู้สึกเจ็บปวด สูญเสีย เป็นตราบาป ทั้งที่จริงแล้วภาวะเหล่านี้ ถ้าเราช่วยกันก็ย่อมจะช่วยป้องกันและลดการฆ่าตัวตายได้
ปัญหาการฆ่าตัวตาย แม้ว่าจะมีสาเหตุที่หลากหลาย แต่ถ้าเรานับกันง่าย ๆ ก็คือ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาการเจ็บป่วยทั้งด้านกายและจิต อีกส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาทางด้านสังคมจิตใจ ปัญหาทางจิตเวชเรารู้ดีว่ากลุ่มใหญ่สุดก็คือ โรคซึมเศร้า แต่สิ่งหนึ่งที่บุคลากรทางด้านสาธารณสุขมักจะมองข้ามไปก็คือว่า โรคทางจิตเวชจำนวนมากจะมีโรคร่วมคือภาวะซึมเศร้า อย่างเช่นเราพบว่าผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยยาเสพติด อัตราการฆ่าตัวตายสูงมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถดูแลรักษาคนไข้เหล่านี้ได้ดีขึ้น ก็จะเป็นการช่วยลดปัญหา และต้อง คัดกรองอยู่เสมอว่าภาวะซึมเศร้าอาจจะเป็นโรคร่วมของภาวะความเจ็บป่วยทางจิตเวชอื่น ๆ ยังมีโรคเรื้อรังทางฝ่ายกายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ จากหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น เบาหวาน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้ก็เป็นภาวะเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดสภาวะสิ้นหวัง และนำไปสู่สภาวะของการฆ่าตัวตายได้ เพราะฉะนั้นการป้องกันและการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยฝ่ายกาย ก็เป็นส่วนสำคัญมากในการป้องกันการฆ่าตัวตาย
ด้านของสังคมจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฆ่าตัวตายอย่างมากในกลุ่มคนหนุ่มสาว เช่น การฆ่าตัวตาย เนื่องจากการตัดสินใจอย่างกะทันหันภายหลังจากความผิดหวัง สิ่งเหล่านี้แม้จะป้องกันได้ยากกว่า แต่ก็สามารถป้องกันได้ ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มีระบบที่จะดูแล ทั้งระบบบริการ เช่น บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์และระบบทางสังคม เช่น เรามีอาสาสมัคร หรือกลุ่มญาติของผู้ที่เคยได้รับผลกระทบทำหน้าที่เหล่านี้อยู่ ถ้าคนที่ตัดสินใจทำลายชีวิตได้ มีโอกาสคุยกับใครสักคนที่จะบอกถึงความรู้สึกของเรา แล้วคนที่เราคุยด้วย ช่วยให้เห็นว่าถ้าหากทำลายชีวิตไป จะมีใครบ้างที่รักเรา คนเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร แล้วคนที่เราห่วงใย เขาจะเป็นอย่างไรหากไม่มีเรา ก็ปรากฏว่าส่วนใหญ่ก็สามารถจะหยุดยั้งการฆ่าตัวตายได้
พลังทางสังคมของกลุ่มช่วยเหลือกันเองและ กลุ่มญาติผู้ป่วย บ้านเราก็ได้พัฒนามาถึงขั้นที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรวัดอย่างหนึ่งว่าประเทศนั้นมีสภาวะของงานสุขภาพจิตที่ดีหรือเปล่า ซึ่งประเทศไทยเราในกลุ่มเอเชียอาคเนย์ก็จะมีกลุ่มเครือข่ายทางสังคมเทียบเคียงกับในสี่ประเทศหลักที่ถือว่ามีพลังฟากประชาชนที่ดี คือสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์
ในลำดับสุดท้ายผมก็จะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งในฐานะของนายกสมาคมจิตแพทย์ เรามีวิชาชีพจิตแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำวันทุกวันหกร้อยกว่าชีวิต คนเหล่านี้เขาก็มีเครื่องมือในการที่จะช่วยในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายอย่างมีประสิทธิภาพ เราทราบดีว่าการรักษาด้วยยาต้านเศร้าประสบความสำเร็จอย่างมาก ยารักษาต้านเศร้าในปัจจุบันเป็นยาที่มีราคาที่ไม่แพง ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีฤทธิ์ข้างเคียงต่ำ และอยู่ในระบบการให้บริการพื้นฐานตั้งแต่บัตรทองขึ้นไปเลย เพราะฉะนั้นก็อยู่ในวิสัยที่จะสามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลายคนก็คงจะสงสัยว่าทำไมภาวะซึมเศร้า จะต้องรักษาด้วยยา ที่จริงจุดยืนของจิตแพทย์ทั่วโลกก็จะคล้ายกันว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าเป็นปัจจัยที่สลับซับซ้อน เรามีงานวิจัยต่าง ๆ ที่ยืนยันมากมายว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุเดียว เขาอาจจะมีประวัติทางพันธุกรรม และชีวิตในวัยเด็กที่ไปเกี่ยวข้องกับความสามารถของสมองที่จะทำให้อารมณ์มีความสมดุลโดยอาศัย Neurotransmitter เช่น Serotonin Norepinephrine เป็นต้น อาจจะมีความสามารถในการเผชิญปัญหา ซึ่งมาจากวัย รวมทั้งประสบการณ์ในชีวิต โดยเฉพาะการมีความเครียดเรื้อรัง ทำให้เกิดภาวะที่รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเหลือ ปราศจากความหวัง ก็นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
การรักษาก็เป็นเรื่องสลับซับซ้อนเช่นกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือว่า แม้ผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับผลดีจากยาต้านเศร้าในการรักษาภาวะซึมเศร้าเป็นครั้งแรก แต่ว่าคนไข้ 70-80% มีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นซ้ำ แล้วสิ่งที่เราพบก็คือ การได้ผลด้วยยาจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ถึงได้มีความพยายามที่จะหารูปแบบของการป้องกันการฆ่าตัวตายในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่นมีรายงานของประสิทธิผลของโครงการอย่างง่าย ๆ ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งไปถึงการมีวิธีการทางวิชาชีพที่ช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดในทางลบของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า คนที่มีภาวะซึมเศร้า จะมีความอ่อนไหวง่ายในการที่จะกลับมาเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำเมื่อเผชิญความเครียด มันเหมือนกับสมองได้ถูกโปรแกรมไว้ว่าเมื่อเผชิญความเครียดจะมีความคิดลบ และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่าย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจำนวนมากจึงได้ผลดีในการเปลี่ยนแปลงความคิด
ที่น่าสนใจมากสำหรับเราที่เป็นเมืองที่มีคนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ได้มีการนำเอาเรื่องของสติมาใช้ในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคซึมเศร้าอย่างได้ผล วิธีการก็คือว่า เขาพบว่าคนที่เคยมีภาวะซึมเศร้า เมื่อคิดลบก็จะรู้สึกว่าตนเป็นทุกข์ และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าใหม่ สิ่งที่สติบำบัดใช้ ในกรณีเช่นนี้คือ ให้มองความทุกข์ว่าเป็นเพียงความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไป แทนที่จะเห็นว่าตัวเองเศร้า แล้วนำไปสู่ภาวะที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็กลายเป็นฉันเห็นความเศร้า ความเศร้าก็เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยไม่ต้องไปเกาะเกี่ยวอารมณ์นั้น โปรแกรมที่สร้างความสามารถในการที่จะดูการเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปของความเศร้าได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์กับมันด้วย ก็ได้รับผลเป็นอย่างดี แล้วก็ขณะนี้ก็เป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาทำในประเทศไทย
โดยสรุปก็คือ ผมคิดว่าเราต้องอาศัยทุกฝ่ายช่วยกัน ไม่ว่ากลุ่มภาคประชาชน หรือว่ากลุ่มวิชาชีพก็ตาม เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาภาวะซึมเศร้าอันเป็นปัญหาจิตเวชที่มีความชุกสูงสุด สมัยก่อนเรามักจะคิดว่า โรควิตกกังวลเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยสุด แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคม การเข้าถึงการบริการมากขึ้น ทำให้เราได้พบว่า จริง ๆ แล้วในทางจิตเวช โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีมีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุด ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ทั้งผู้ที่เสียชีวิต และผู้ใกล้ชิดที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เราจะต้องช่วยกันในการที่จะทำให้ปัจจัยและกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้รับการดูแลป้องกัน ผมหวังว่าการสัมมนาในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะช่วยกันลดการสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย และขอให้ทุกท่านเป็นพลังแห่งความหวังในการลดความสูญเสียนี้